Week 8

My Journal

Week 8 - September 18, 2011

วันนี้เป็นวันที่พวกเราทุกคนมาแก้ไขงานและทำทุกอย่างในวิชานี้ให้เสร็จ สิ่งหลักๆก็คือแก้โครงการให้สมบูรณ์ บ้างก็แก้ Blog แก้ Wix กันไป จากนั้น พออาจารย์เข้ามา พวกเราก็ได้รับคำแนะนำเรื่องการทำงานกลุ่มให้ดีขึ้น, การชี้แนะเรื่องการทำงานออนไลน์, ประเด็นที่ว่าทำไมการศึกษาไทยถึงยังไม่สามารถพัฒนาคนได้ดีสักทีโดยเฉพาะเรื่องทักษะการคิดและเครื่องมือในการทำให้การใช้ ICT ในการสอนมีความสมบูรณ์ขึ้น สิ่งเหล่านี้สามารถแยกเป็นรายข้อได้ดังนี้

1. การทำงานกลุ่มนั้นๆถ้าจะให้เกิดการเรียนรู้สูงสุดไม่ใช่แค่จบอยู่แค่งานของเราเสร็จเท่านั้น แต่ต้องอ่านงานของกลุ่มอื่นด้วยเพื่อจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะบางครั้งความรู้ที่เก็บเกี่ยวจากกลุ่มอื่นก็สามารถเอามาใช้ประโยชน์ในงานของเราได้หรือถ้าหากไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์ในวันนี้ก็อาจมีประโยชน์ในวันหน้าก็ได้ ฉะนั้น รู้บ้างดีกว่าไม่รู้อะไรเลย แต่อย่างไรก็ตามหากมองลึกลงไปกว่านั้น สิ่งที่เขียนมาต้องมีคุณภาพควรค่าแก่การอ่านและความคาดหวังที่จะได้องค์ความรู้ใหม่ๆด้วย การเขียนรายงานถ้าจะให้มีลักษณะแบบนี้ก็ต้องอย่าไปตามเนื้อหามากนัก นั่นหมายถึงการตีความให้กระจ่างว่ามีความรู้อะไรแฝงอยู่แล้ววิเคราะห์ ถ้าเขียนไปตาม fact ก็ไม่ต่างจากการจำๆท่องๆความรู้ที่มีอยู่แล้วมาเล่าให้ฟัง

2. ในอนาคตเราคงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำงานออนไลน์ ยิ่งถ้าเป็นการสอนแล้ว ยิ่งต้องมีความรู้ด้านการใช้งานระบบออนไลน์ให้มากด้วย เพราะนี่คือเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการถ่ายทอดความรู้ ในการใช้เครื่องมือดังกล่าวต้องตระหนักเสมอว่าการสั่งงานผู้เรียนต้องง่าย เป็นขั้นตอนละเอียด ภาษาต้องกระชับและถุกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนและเข้าใจผิด

สำหรับการสร้างสื่อในระบบออนไลน์นั้น การใช้งานต้องง่ายและต้องไม่เป็นโครงสร้างหลายชั้น ทุกอย่างมีระบบระเบียบ และทุกพื้นที่ต้องใช้งานให้เกิดประโยชน์

3. ทุกวันนี้คุณภาพของเยาวชนและคนไทยทั่วๆไปยังอยู่ในระดับที่เรียกว่ายังล้าหลังประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่มากโดยเฉพาะเรื่องของการคิด ผู้ปกครองมักโทษโรงเรียนว่าสอนมาไม่ดี ส่วนโรงเรียนก็โทษผู้ปกครองเช่นกันว่าเลี้ยงลูกไม่เป็น สรุปแล้วก็คือผิดทั้ง 2 ฝ่าย หากมองที่ทางบ้านนั้น ต้องบอกว่าเด็กก็เหมือนผ้าขาวที่แต้มสีอะไรก็เป็นสีนั้น โดยเฉพาะวัยที่กำลังเรียนรู้นั้น เห็นอะไรก็มักจะซักถาม ช่วงนี้เป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนาเพื่อเรียนรู้และจดจำต้นแบบ พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับพัฒนาการช่วงนี้ให้มากๆ พฟติกรรมเด็กที่มักพบเห็นก็คือช่างซักช่างถาม การที่จะสอนทักษะการคิดจึงอยู่ที่โอกาสทองตรงนี้ บางครอบครัวทำลายพัฒนาการตรงนี้ไปอย่างน่าเสียดายโดยพฤติกรรมที่เห็นคือมักจะดุเด็กจึงทำให้เด็กกลัวและไม่กล้าที่จะซักถามอะไรอีก ดังนั้นการช่างสังเกตและการเรียนรู้จึงไม่เกิดขึ้น เด็กจึงวางกลายเป็นคนที่วางเฉยกับสิ่งต่างๆรอบตัวไปเลย ไม่คิด ไม่ซักถามอะไรทั้งนั้น เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิดไปเสียแล้ว แล้วก็ส่งผลต่อพัฒนาการด้านการคิดของเขา

หากมองมาที่โรงเรียน ก็จะพบว่าการเรียนการสอนก็มีส่วนทำให้เด็กที่มีความช่างคิดกลายเป็นเด็กที่เฉื่อยชาทางความคิดได้และคิดอะไรไม่เป็น สิ่งที่อันตรายก็คือการสอนแบบใส่ความรู้เข้าไปอย่างเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ซักถามและคิดต่อยอดหรือแก้ปัญหาใดๆเลย ดังนั้นจึงจริงอย่างคำพูดที่ว่าคนเรายิ่งเรียนมากก็ไม่ช่วยให้ฉลาดขึ้น ที่เป็นอย่างนี้เพราะเรียนแล้วขาดการฝึกฝนและไม่เห็นช่องทางของการนำความรู้มาใช้จนเกิดเป็นความชำนาญหรือต่อยอดความรู้เดิมไปสู่ความรู้ใหม่ การสอนแบบให้ท่องๆจำๆก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้ทักษะการคิดของเยาวชนไทยและคนไทยทั้งหลายยังไม่พัฒนาเสียที

หากเทียบกับการศึกษาในต่างประเทศนั้นโดยเฉพาะประเทศทางซีกตะวันตก การสอนให้คิดเป็นนั้นเริ่มตั้งแต่ครอบครับเลยทีเดียว และวัฒนธรรมเขาก็ส่งเสริมต่อการกล้าคิดกล้าทำอีกด้วย เช่น ลูกสามารถเถียงพ่อแม่ได้ถ้าคิดว่ามีเหตุผลดีพอ นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาในชั้นเรียนได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าคนอื่นจะมองว่าแตกต่าง แต่ในสังคมไทยหรือแม้แต่ซีกโลกตะวันออกของเรากลับมองว่านี่คือความก้าวร้าวและการไม่เคารพผู้ใหญ่ นี่คือตัวอย่างที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ของวัฒนธรรมที่หล่อหลอมกันมาในแต่ละบริบทสังคม แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่าเราควรเลียนแบบประเทศฟากตะวันตกในทุกเรื่อง เอกลักษณ์ดีๆของเราก็ต้องเอาไว้อยู่แต่เราก็ต้องสร้างกรอบของค่านิยมในสังคมขึ้นมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางคุณลักษณะทางความคิดของคนจะได้อยู่ในของเขตของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ดีงาม ในที่นี้อยากให้นึกถึงกรณีของประเทศญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกและหลังสงครามโลกเป็นตัวอย่างเพื่อจะได้วิเคราะห์ได้ว่าคนในสังคมปัจจุบันที่นั่นเขามีความคิดที่ต่างจากสมัยก่อนอย่างไรและปรับกระบวนการคิดอย่างไรเพื่อการอยู่รอดในสังคมและพัฒนาสังคมในขณะเดียวกัน ที่สำคัญตัวอย่างของการคิดที่ผิดเพี้ยนไปจนล้ำเส้นของวัฒนธรรมที่ดีงามก็มีให้เห็นเช่นกันในรูปของพฤติกรรมประหลาดๆหรือการคิดค้นสร้างสิ่งที่ประหลาดๆที่ไม่มีเหตุผลรองรับว่าทำไปทำไมและการฆ่าตัวตายเมื่อประสบความกดดันจากการตั้งใจทำงานเกินไป

4. สิ่งใหม่ๆที่อาจารย์เอามาแนะนำให้ลองใช้ดูก็ได้แก่ การใช้ AVATAR เพื่อสร้างตัวแทนของเราขึ้นมาในการสื่อสารโดยที่ไม่ต้อง upload วีดีโอหรือแม้แต่ในการเรียนการสอนก็สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้ นอกจากนี้อาจารย์แนะนำว่าควรหัดใช้ online service ที่เป็นแบบ cloud computing เอาไว้บ้างโดยที่หัดใส่ข้อมูลต่างๆไว้บน web หรือพวกcommunication tool ต่างๆบนระบบอินเตอร์เน็ตเอาไว้บ้าง บางทีเราไม่ต้องพกดิสก์หรือใช้อีเมล์แล้วก็ได้ แค่มีคอมพิวเตอร์กับมีอินเตอร์เน็ตและมี web ส่วนตัวก็สามารถทำงานได้ง่ายๆแล้ว นี่คือ concept จริงๆของ web 2.0

ความคิดเห็นที่มีต่อการเรียน

ทุกอย่างที่อาจารย์พูดในวันนี้ผมสามารถนำไปใช้สอนลูกศิษย์และใช้ในการทำงานได้ ตั้งแต่เรื่องการทำงานกลุ่ม ผมก็ได้ความคิดว่าลูกศิษย์ควรมีโอกาสที่จะเรียนรู้ร่วมกันในแบบนี้ให้มากขึ้น เพราะเมื่อทุกคนรู้ว่างานกลุ่มจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อการหาความรู้แล้ว นั่นก็เท่ากับว่าเป็นการกดดันให้ต้องทำงานอย่างมี่คุณภาพ เพราะความเข้าใจเนื้อหาของเพื่อนๆขึ้นอยู่กับงานของเราจริงๆ

ของเล่นใหม่ที่อาจารย์แนะนำในนี้ก็คือ AVATAR ซึ่งข้อดีก็คือเป็นการสร้างตัวแทนของเรามาทำงานแทนเราและสามารถเอาไปไว้บนบล็อกหรือบนfacebook ก็ได้เพื่อสื่อสารกับผู้ที่มาดูเว็บของเราโดยที่เราไม่ต้องอัดเสียงตัวเองหรืออัด VDO ของตัวเองลงไป และเวลาพิมพ์อะไรลงไปตัวคนที่เลือกไว้ก็จะพูดตามนั้นเป็นสำเนียงต่างๆตามแต่จะเลือกใช้ ปัญหาที่พบก็คือถ้าเป็นพวกคำย่อเช่น ICT ก็จะออกเสียงเป็น "อิคท์." แต่พอเว้นวรรคระหว่างตัวอักษรก็ิ่อ่านว่า "ไอ ซี ที" จากการลองใช้ในครั้งนี่้ ทำให้ผมเห็นช่องทางว่าน่าจะเอาไปใช้กับวิชาที่สอนเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่การเอาไปประกอบใน website เพื่อดึงดูดความสนใจก็เป็นเรื่องที่ทำได้

นอกจากนี้สิ่งที่ชอบมากก็คืออาจารย์มาแนะนำ slideshow แล้วให้ดูว่าพวก online service อันไหนที่เหมาะกับงานของเรา เพราะอีกหน่อยเราก็สามารถเอาข้อมูลต่างๆใส่ไว้ในระบบ internet ได้ แล้วก็ทำ link ไปที่งานที่เราจะเสนอทีละเรื่องๆไป นั่นหมายความว่าเราอาจไม่ต้องใช้ disk อีกต่อไป แค่เอาข้อมูลไปใส่ในระบบอย่าง cloud computing ตามเว็บต่างๆแล้วก็สามารถหยิบมาใช้ได้อย่างคล่องตัว

จากทั้งหมดที่เขียนมาทุกสัปดาห์นี้ ผมได้เรียนรู้หลายอย่างจากอาจารย์เยอะมากและผมคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีโอกาสได้ทำวิจัยด้านนี้โดยที่จะได้เอาความรู้ที่เรียนมามาใช้ได้อย่างเต็มที่ และผมมีกำลังใจมากขึ้นที่จะลองสร้างระบบการเรียนการสอนด้วย website และใช้ประโยชน์จาก cloud computing มาช่วยในการลดภาระงานสอนของผมให้น้อยลงโดยคิดว่าอาจจะเริ่มจากบางวิชาในเทอมหน้า

สุดท้ายนี้ก่อน present จบวิชานี้ ผมขอขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่มอบความรู้อันมีค่าให้ผมมาจนถึงบัดนี้พร้อมกับชี้ทางสว่างในการพัฒนาการทำงานและพัฒนาตัวเอง จากเมื่อก่อนที่เป็นคนไม่ค่อยสนใจเทคโนโลยีมากนักเพราะคิดว่าอะไรบางอย่างไม่จำเป็นต้องรู้และไม่มีประโยชน์ที่จะต้องไปลองเทคโนโลยีใหม่ๆซึ่งไม่มีโอกาสได้ใช้ แต่พอมาเรียนที่นี่จนถึงขณะนี้ ความคิดผมเปลี่ยนเป็นคนละเรื่องเลย ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อนำมาใช้ในการลดภาระการทำงานแต่เพิ่มศักยภาพของการทำงานให้มากขึ้น พอเริ่มติดใจในการใช้งานและเห็นประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลของสิ่งเหล่านี้ที่สามารถช่วยให้ชีวิตสบายขึ้นแต่ทำงานเบาแรงลงก็เลยตื่นตัวอยากลองเรียนรุู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา แม้ว่าจะมาใส่ใจในเทคโนโลยีเอาจนป่านนี้แต่ก็ไม่คิดว่าสายเกินไปที่จะพัฒนาความรู้ด้านนี้ควบคู่ไปกับความรู้เดิมที่มีอยู่ ในโลกนี้สิ่งใหม่ๆมีให้เราเรียนรู้ตลอดเวลาและทุกอย่างมีพัฒนาการอยู่เสมอ เร็วบ้างช้าบ้างก็เรื่องธรรมดาตามครรลองของมัน หน้าที่เราก็คืออยู่กับสิ่งเหล่านั้นอย่างรู้เท่าทันและรู้จักเก็บเกี่ยวประโยชน์และใช้งานอย่างฉลาด